สิ่งที่เราเสียไปในกองเพลิง

 





















Larissa Tarkovskaya


Andrejusja ลูกชายของทาร์คอฟสกี้
ขึ้นรับรางวัลที่คานส์ ร่วมกับ Anna-Lena Wibom
เนื่องจากทาร์คอฟสกี้กำลังป่วยหนัก


<<< | 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | >>>

ในวันเกิดของอเล็กซานเดอร์อดีตนักแสดง ที่ขณะนี้เป็นนักเขียน ครอบครัวเขาได้มารวมตัวกันที่บ้าน ในวันเดียวกันนั้นสงครามโลกครั้งที่ 3 ได้เริ่มขึ้น เขาเฝ้าสวดภาวนาต่อพระผู้เป็นเจ้า ยอมสละทุกสิ่งเพื่อขอให้สงครามนี้ยุติ ไม่ว่าจะเป็นบ้านของเขา ลูกชาย หรือเสียงพูดของตัวเอง เมื่อฟ้ามืดบุรุษไปรษณีย์นามออตโต้มาพร้อมกับข่าวว่า สาวใช้ของอเล็กซานเดอร์ที่ชื่อมาเรียนั้นเป็นแม่มด และอเล็กซานเดอร์ต้องนอนกับเธอเพื่อช่วยโลก และทำให้ทุกอย่างกลับเป็นเหมือนเดิม

The Sacrifice (1986) ได้รับทุนสร้างจากสถาบันภาพยนตร์สวีเดน (Swedish Film Institute) ด้วยความช่วยเหลือของ Olga Surkova เพื่อนของทาร์คอฟสกี้ที่รู้จักกับ Anna-Lena Wibom ผู้อำนวยการสถาบัน โดยขณะนั้นบทหนังใช้ชื่อว่า The Witch เกี่ยวกับชายที่ป่วยเป็นมะเร็ง และได้รับคำแนะนำจากนักพยากรณ์ว่าเขาต้องนอนกับแม่มด ในที่สุดเขาหายจากโรคร้าย และตัดสินใจจาก “บ้านที่สวยงามและชีวิตที่มีความสุขไปกับเธอ (แม่มด) โดยมีเพียงเสื้อโค้ทเก่าๆติดตัวไปเท่านั้น”

ทาร์คอฟสกี้เรียก ‘The Witch’ ว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับ ‘การเสียสละ’ เป็น ‘กระบวนการฟื้นฟูจิตวิญญาณที่แสดงออกมาในรูปของผู้หญิง’ ต่อมาหลังจากที่เขาทำ Nostalghia แล้ว เขาจึงได้เพิ่มส่วนของพระเจ้าและสงครามนิวเคลียร์เข้าไปภายหลัง และเลือก Erland Josephson ผู้ที่เคยรับบท Domenico ใน Nostalghia มารับบทอเล็กซานเดอร์ ซึ่งทั้งสองบทนี้ รวมถึงบท stalker ล้วนแต่มีลักษณะคล้ายกันคือ เป็นผู้ที่มีศรัทธาแรงกล้า และได้พูดหรือกระทำสิ่งที่ถูกมองว่าผิดปกติในสายตาของคนอื่น หรือ holy fool

“ในหนังเรื่องนี้ ผมสนใจในการดิ้นรนต่อสู้ (เสียสละ) เพื่อคนอื่นในสังคม: เป็นคติแบบคริสเตียนเรื่องการเสียสละตัวเอง ถ้าใครไม่รู้จักหรือปรารถนาเช่นนี้ เขาย่อมเสื่อมจากความเป็นมนุษย์และกลับคืนสู่สภาพของเดรัจฉาน กลายเป็นเพียงเครื่องมือประหลาด เป็นวัตถุที่จะถูกทดลองโดยสังคมและรัฐ ในทางตรงข้าม ถ้าเขายึดมั่นในหลักศีลธรรม เขาย่อมพบว่าตนมีความสามารถที่จะเสียสละตัวเองได้”

“ผมตระหนักดีว่า ความคิดนี้ไม่ได้รับความนับถือในปัจจุบันแล้ว ไม่มีใครมีความตั้งใจแม้เพียงน้อยนิดเพื่อเสียสละบางอย่างในชีวิตของเขา แต่มันเป็นสิ่งที่ต้องทำถ้าคุณต้องการรักษาจิตวิญญาณของคุณไว้”

Erland Josephson กล่าวถึงพฤติกรรมของตัวละครของเขาว่า ในช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดในชีวิตของคนคนหนึ่ง เรามักไม่ได้แสดงออกมาอย่างสง่างาม แต่กลับจะดูน่าหัวเราะในสายตาของคนอื่น

ทาร์คอฟสกี้อธิบายถึงอเล็กซานเดอร์ว่า

“ผมต้องการแสดงภาพของชายผู้มีความสามารถในการอุทิศตน บางครั้งมันอาจนำมาซึ่งความยากลำบากแก่ครอบครัวและเพื่อนฝูง นี่คือชายที่เข้าใจเป็นอย่างดีว่า การไถ่บาปนั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะนำไปสู่การทำลายตัวเอง... เมื่อเราหิว เราก็ไปที่ร้านและซื้ออะไรกิน แต่ถ้าเราเศร้าและสิ้นหวัง เป็นวิกฤตทางจิตวิญญาณ เราไม่มีที่ใดให้ไป นอกจากนักเพศบำบัดและนักจิตบำบัด ผู้ซึ่งไม่มีความเข้าใจใดๆเกี่ยวกับสิ่งที่อยู่ภายในของเราเลย... ตัวเอกของผมไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างที่ผ่านมาได้อีกต่อไป การกระทำของเขาอาจเกิดขึ้นมาจากความสิ้นหวัง แต่มันทำให้เขารู้สึกได้ว่าตัวเองยังมีอิสระ การกระทำบางอย่างอาจดูน่าหัวเราะในโลกของวัตถุ แต่ในโลกจิตวิญญาณมันกลับงดงามราวกับมันได้สร้างความเป็นไปได้ของการเกิดใหม่”

“ถ้าผมจะเชื่อว่าอารยธรรมของเราจะตายเพราะการพัฒนาทางวัตถุ มันก็ไม่ใช่จุดจบทางกายภาพ แต่เป็นที่จิตวิญญาณของเราต่างหาก... ดูสวีเดนสิ ไม่มีจิตวิญญาณ ไม่มีความใส่ใจในสิ่งใดๆเลย พวกเขามีทุกอย่างที่พวกเขาต้องการ แต่พวกเขาก็ยังว่างเปล่า ความคิดที่ว่าทุกคนเท่าเทียมกัน: คนทำขนมปัง คนขายเหล้า หรือคนทำหนัง พวกเขาทั้งหมดล้วนเท่าเทียมกันในสายตาของสรรพากร... นั่นคือเหตุที่เบิร์กมันจากไป (จากสวีเดน)”
A propos du Sacrifice, Annie Epelboin, appeared in Positif, May 1986

ในหนังเรื่องนี้ทาร์คอฟสกี้จงใจอ้างถึง The Idiots ของดอสโตเยฟสกี้ (หนังที่เขาอยากสร้างตอนยังอยู่รัสเซีย แต่ไม่สำเร็จ) โดยระบุว่า อเล็กซานเดอร์เคยรับบทเจ้าชายมิชกิ้น ซึ่งเป็นการแสดงที่ดีที่สุดของเขา The Sacrifice จึงเป็น The Idiots แบบทาร์คอฟสกี้เอง

ขณะที่เจ้าชายมิชกิ้นเป็นเจ้าชายตกอับเพิ่งกลับมาจากการรักษาโรคลมบ้าหมูในต่างประเทศ เขาเป็นชายหนุ่มรูปงาม ที่ออกจะซื่อจนเซ่อ (ตามชื่อเรื่อง) แต่ก็เป็นที่รัก (และรังเกียจในบางโอกาส) ของทุกคน โดยดอสโตเยฟสกี้ยกย่องความมีคุณธรรมและบริสุทธิ์ของเจ้าชายอย่างเต็มที่ ในโลกที่แสนกักขฬะและโสมม มีแต่คนหน้าไหว้หลังหลอก

ส่วนอเล็กซานเดอร์เป็นชายผู้เคยโด่งดังในอดีต แต่ปัจจุบันเป็นชายแก่ที่ไร้เสน่ห์ ภรรยายังสาวของเขาก็ดูจะมีใจให้กับเพื่อน และเมื่อเขาทำการเสียสละทั้งสองครั้ง เขาก็กลายเป็นคนวิกลจริตในสายตาของคนอื่น เป็นผู้พ่ายแพ้ในการต่อสู้เพื่ออุดมคติทั้งมวล

และแม้ทาร์คอฟสกี้จะพยายามยกย่องการกระทำของอเล็กซานเดอร์อยู่บ่อยครั้ง ในการสัมภาษณ์หลายโอกาส แต่คนดูส่วนใหญ่ก็ยังเห็นว่า อเล็กซานเดอร์นั้นเสียสติไปแล้วจริงๆ ทำให้ช่องว่างทางความคิดระหว่างทาร์คอฟสกี้และคนดูถ่างกว้างมากยิ่งขึ้นไปอีก

ใน The Sacrifice ทาร์คอฟสกี้ยังคงใส่ฉากที่เป็นเครื่องหมายการค้าของเขาอย่าง ฉากนมหก หรือฉากล่องลอยในอากาศ ซึ่งเขาเคยใช้เป็นครั้งแรกในฉากไร้แรงโน้มถ่วงใน Solaris โดยเขาอธิบายว่า ความรักไม่สามารถอธิบายได้ด้วยฉากการร่วมเพศกันของคนสองคน เขาเลือกใช้วิธีดังกล่าวเพราะมัน ‘มหัศจรรย์’

หลังจากที่ The Mirror เป็นการรำลึกถึงวัยเด็กและครอบครัวของภรรยาคนแรก The Sacrifice พูดถึงสภาวะปัจจุบันของทาร์คอฟสกี้เอง โดยบทภรรยาของอเล็กซานเดอร์ที่รับบทโดย Susan Fleetwood นั้นมีลักษณะคล้ายกับ Larissa ภรรยาคนปัจจุบัน ทั้งสองมีลูกสาววัยรุ่นติดมากับสามีคนก่อนเหมือนกัน ส่วนลูกชายคนเล็กนั้นก็ ‘เป็นใบ้’ เหมือนเป็นตัวแทนของลูกชายคนเล็กของทาร์คอฟสกี้ที่ยังคงอยู่ที่โซเวียตในตอนนั้น

บ้านในหนังเรื่องก่อนๆของเขา ถูกเผาโดยไร้สาเหตุ ตัวละครในหนังได้แต่ตะลึงงันในภาพของเปลวไฟที่กำลังลุกไหม้อย่างสวยงาม ซึ่งอาจแสดงถึงการคุกคามต่อโลกของผู้หญิงและ ‘เด็กๆ’ โดยทาร์คอฟสกี้คือเด็กๆเหล่านั้น แต่ใน The Sacrifice อเล็กซานเดอร์ซึ่งเป็นตัวแทนของทาร์คอฟสกี้เป็นคนจุดไฟเอง เหมือนเป็นการทำร้ายครอบครัวของเขาในปัจจุบัน อย่างที่พ่อของทาร์คอฟสกี้เคยทำในอดีต – เช่นนั้นแล้ว ภาพบ้านถูกเผาในหนังเรื่องก่อนๆของเขา ก็น่าจะเป็นภาพในจิตใต้สำนึกของทาร์คอฟสกี้ ที่สะท้อนออกมาจากการละทิ้งครอบครัวไปของอาร์เซนี เป็นความรู้สึกที่รันทดและงดงาม และถูกทำซ้ำอีกครั้งในช่วงชีวิตของทาร์คอฟสกี้เอง

นอกจาก Erland Josephson นักแสดงขาประจำของเบิร์กมันแล้ว ทาร์คอฟสกี้ยังเลือก สเวน นีควิสต์ (Sven Nykvist)ตากล้องคู่บุญของเบิร์กมันเป็นผู้กำกับภาพด้วย ซึ่งเขาสามารถถ่ายฉากภายในบ้านได้สวยงามเหมือนกับที่เคยทำให้เบิร์กมัน ทาร์คอฟสกี้แสดงความตั้งใจอย่างเปิดเผยที่จะทำหนังเรื่องนี้โดยได้รับอิทธิพลจากเบิร์กมัน (โดยเฉพาะ Shame (1968))

Andrei Konchalovsky กล่าวว่า ใน The Sacrifice ทาร์คอฟสกี้พยายามมากเกินไปที่จะเป็นเหมือนเบิร์กมัน โดยการใส่ความคิดทางปรัชญาที่ซับซ้อนเข้าไปในหนัง แต่เนื่องจากขาดความชำนาญทางภาษาและความเข้าใจทางจิตวิทยาของเบิร์กมัน เขาจึงประสบความสำเร็จแต่เพียงสิ่งที่เขาทำได้ดีมาตลอด นั่นคือการใช้ภาพที่งามราวกับบทกวี

The Sacrifice ได้รับการยกย่องอย่างมากจากฉาก ‘เผาบ้าน’ ที่สเวน นีควิสต์ ถ่ายแบบ long take ได้อย่างน่าทึ่ง แต่ก็ถูกวิจารณ์ว่าหนังเสแสร้ง พยายามจะเทศนาสั่งสอนมากเกินไป และเนื้อหาส่วนที่ทาร์คอฟสกี้เพิ่มเข้าไปทีหลังนั้นไม่เป็นเนื้อเดียวกับกับเรื่องเดิม

Johnson and Petrie กล่าวว่า “อเล็กซานเดอร์ได้ทำการเสียสละ 2 ครั้งซ้อนกันโดยไม่มีเหตุผล (และไม่จำเป็น) โดยครั้งแรกเขานอนกับแม่มดจากคำยั่วยุของออตโต้ และครั้งที่สองเขาเผาบ้านตัวเองและกลายเป็นใบ้จากคำสาบานที่เขาให้แก่พระเจ้า เมื่อขาดความเชื่อมโยงทางเนื้อหาและปรัชญาแล้ว มันก็ได้ทำลายหนังเรื่องนี้ลงอย่างสิ้นเชิง”

ส่วน Olga Surkova วิจารณ์การกระทำของอเล็กซานเดอร์ว่าไม่ใช่การเสียสละที่แท้จริง เพราะเขาทำลายแต่สิ่งที่เขาไม่ได้รักอีกแล้ว: ยกเว้นลูกชายคนเล็ก–อเล็กซานเดอร์รู้สึกแปลกแยกกับภรรยาและครอบครัวมานานแล้ว และบ้านหลังนั้นก็เป็นเหมือนเครื่องเตือนความทรงจำที่แสนเย็นชาถึงความไร้ความสุขของพวกเขา


Andrei, Susan Fleetwood, Sven Nykvist, Erland Josephson

ในหนังหลังจากคืนที่อเล็กซานเดอร์เสียสละครั้งแรกแล้ว เขาตื่นขึ้นมาพบว่าไฟฟ้ากลับมาใช้ได้เหมือนเดิม ทุกอย่างเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่มีสงคราม หรือนี่เป็นผลจากการเสียสละของเขา แต่ทาร์คอฟสกี้ก็ตั้งใจใช้ภาพที่แสดงให้เราอาจคิดไปได้ว่า ทั้งหมดที่เห็นคือความฝัน มีเพียงเหตุการณ์หลังการตื่นของอเล็กซานเดอร์เท่านั้นที่เป็นความจริง แต่เขาก็ยังทำการเสียสละเป็นครั้งที่สอง

บางทีทาร์คอฟสกี้อาจจะต้องการพูดว่า ถ้าการไร้ซึ่งศรัทธาใดๆนำไปสู่สงคราม การมีศรัทธาอย่างสิ้นคิดต่อผู้ที่ไม่นับถือพระเจ้า (ออตโต้มักอ้างคำพูดของนิทช์เช่ (Nietzsche) นักปรัชญาที่กล่าวว่า พระเจ้าตายแล้ว) ย่อมนำไปสู่การทำลายตนเองไม่ต่างกัน กระนั้นเขาก็ยังมีความหวังต่อมนุษยชาติในตอบจบว่า คนในรุ่นต่อไปจะช่วยกันรดน้ำปลุกชีวิต ‘ต้นไม้ญี่ปุ่น’ ให้เบ่งบานอีกครั้ง

The Sacrifice จบลงด้วยการอุทิศหนังเรื่องนี้แก่ลูกชายของเขา Andrejusja (Andriuschka) “ด้วยความหวังและความเชื่อมั่น”


Andrejusja ในวันที่ได้พบกับ Larissa และ ทาร์คอฟสกี้อีกครั้ง (ภาพจาก One Day in the Life of Andrei Arsenevich)

ฤดูใบไม้ร่วงปี 1985 ขณะที่ทาร์คอฟสกี้กำลังตัดต่อ The Sacrifice เขาไปพบแพทย์เนื่องจากอาการเจ็บหน้าอก และพบว่าตัวเองเป็นมะเร็ง

ในปี 1986 สหภาพโซเวียตเตรียมการฉายหนังทั้งหมดของทาร์คอฟสกี้ และกลับมายกย่องเขาใหม่อีกครั้ง อันถือเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย Glasnost ของ มิคาอิล กอร์บาชอฟ (Mikhail Gorbachev) ในการปรับปรุงและผ่อนคลายนโยบายของสหภาพโซเวียต แต่ทาร์คอฟสกี้ก็ยังยืนยันเช่นเดิม

“ไม่ว่าเป็นหรือตาย ผมก็จะไม่กลับไปเหยียบประเทศนี้อีก เพราะมันทำให้ผมและคนที่ผมรู้จักพบกับความเจ็บปวด ทรมาน และถูกดูถูกเหยียดหยาม ผมเป็นคนรัสเซีย แต่ไม่ใช่โซเวียต”

 

 


   
     
     
 
<<< | 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | >>>