ซากปรักหักพังของชีวิต

 





















<<< | 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | >>>

ในอนาคตอันใกล้ ปรากฏบริเวณหนึ่งซึ่งถูกเรียกว่า ‘zone’ ขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ ในใจกลางพื้นที่ประหลาดดังกล่าวมีห้องๆหนึ่งหรือ ‘room’ ซึ่งมีคำเล่าลือว่าผู้ใดที่ได้เข้าไปข้างในจะสมปรารถนาในทุกสิ่ง ‘zone’ ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่ถูกควบคุมไม่ให้คนเข้าออก แต่ก็มีคนกลุ่มหนึ่งที่รับทำงานผิดกฎหมายพาคนเข้าไปในนั้นเรียกว่า ‘stalker’

ผู้ที่เรียกตัวเองว่า ‘นักเขียน’ (Anatoly Solonitsyn) และ ‘นักวิทยาศาสตร์’ (Alexander Kaidanovsky) ได้ว่าจ้างให้ stalker คนหนึ่ง (Sasha Kaidanovsky ) พาเข้าไปในนั้น หลังจากผ่านการเดินทางอันแสนประหลาด ผสมไปกับการตรวจสอบวิญญาณของตัวเอง ในที่สุดทั้งหมดก็มาถึงประตูของ ‘ห้อง’ ...

บทร่างแรกของ Stalker (1979) ในชื่อ The Wish Machine ถูกเขียนขึ้นมาอย่างใกล้เคียงกับต้นฉบับนิยาย Roadside Picnic ของพี่น้อง Arkady และ Boris Strugatsky และทาร์คอฟสกี้ได้ถ่ายทำไปแล้วครึ่งหนึ่งก่อนที่จะพบว่า ฟิล์มดังกล่าวกลับเสียหายในกระบวนการในแล็ปที่สตูดิโอ Mosfilm แต่ด้วยความช่วยเหลือของ Filip Yermash ศัตรูตลอดกาลของเขา ทาร์คอฟสกี้จึงได้ทุนทำใหม่อีกครั้ง โดยเขายืนยันว่าเขาไม่อาจทำสิ่งเดียวกันอีกครั้งได้ เขาจึงต้องเริ่มต้นเขียนบทใหม่กับเจ้าของนิยาย “บางทีความหายนะที่ Mosfilm อาจไม่ใช่อุบัติเหตุ แต่เป็นชะตากรรมที่มาในรูปอุบัติเหตุ มิเช่นนั้นหนังอาจไม่ลึกอย่างที่เป็นอยู่”

ทาร์คอฟสกี้อธิบายว่า ‘นักเขียน’ และ ‘นักวิทยาศาสตร์’ นั้นเป็นตัวแทนของหลักการในโลกแห่งความจริงปัจจุบัน ซึ่งจะกระตุ้นให้ stalker ได้กลับมาพิจารณาทัศนคติเกี่ยวกับชีวิตของตัวเองอีกครั้ง มันเป็นเรื่องราวของวิกฤตการณ์ - stalker คือชนเผ่าโมฮิแกนคนสุดท้าย เป็นสิ่งที่เหลือรอดมาจากยุคสมัยที่ผ่านพ้นไปแล้ว ผู้ที่ยึดมั่นในอุดมคติ – ซึ่งถูกแทนที่ด้วยการสูญเสียซึ่งความศรัทธา... วัตถุนิยมคือผู้ชนะ อย่างน่าหดหู่ใจ

“Stalker ไม่ได้เข้าไปใน ‘ห้อง’ เพราะมันเป็นเรื่องที่ไม่สมควร มันไม่ใช่ภารกิจของเขา และมันยังขัดหลักการของเขาด้วย อย่างไรก็ดี ถ้าทั้งหมดนี้จริงๆแล้วเป็นผลผลิตจากจินตนาการของเขา เขายิ่งไม่ควรเข้าไปข้างใน เพราะเขารู้อยู่แล้วว่าจะไม่มีพรใดสมปรารถนา สำหรับเขามันเป็นสิ่งสำคัญที่สองคนนั้นจะเชื่อในอำนาจของ ‘ห้อง’ และเข้าไปในนั้น stalker ปรารถนาที่จะค้นพบผู้คนที่เชื่อในบางสิ่งในโลกนี้ ซึ่งเต็มไปด้วยคนที่ไม่เชื่อในอะไรเลย”

เขาอธิบายเหตุที่ ‘นักวิทยาศาสตร์’ ต้องการทำลาย ‘zone’ ว่า

“ผมคิดว่า ‘นักวิทยาศาสตร์’ จะเป็นคนที่หวาดกลัวต่อสถานที่นี้มากกว่าผู้อื่น เพราะเขาสามารถจินตนาการได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคต เขาปฏิบัติต่อ ‘zone’ เหมือนที่เขาปฏิบัติต่อความรู้ของตัวเอง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้นอันตรายยิ่งกว่า ‘ห้อง’ เสียอีก... สำหรับผม (ตัวละคร) ‘นักวิทยาศาสตร์’ นี้เป็นเหมือนคนหลงทาง: เขาไม่เคยประดิษฐ์สิ่งใด หรือค้นพบอะไรเลย เขาทนทุกข์กับปมด้อยบางอย่างมาชั่วชีวิต”

มีคนตีความว่าการที่ทั้งสามคนต้องเดินอ้อมไปมา โดยไม่สามารถเดินตรงไปที่ ‘ ห้อง’ ได้เลยนั้น เป็นการแสดงถึงการใช้ชีวิตจริงของคนที่อยู่ในสหภาพโซเวียต (Mark Le Fanu)

หนัง Stalker จบลงตรงที่ภาพของลูกสาวของ stalker กำลังนั่งมองแก้วที่เลื่อนหล่นจากโต๊ะ ซึ่งอาจจะเกิดจากพลังจิตของเธอ อย่างที่เราได้รับการบอกว่าเธอเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก ‘zone’ หรืออาจเป็นการสั่นสะเทือนที่เกิดจากการมาของรถไฟ ที่เสียงของมันดังขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกันนั้นทาร์คอฟสกี้ใส่ดนตรี Ninth Symphony (Ode to Joy) ของ Beethoven ซ้อนเข้ามาแข่งกับเสียงรถไฟ โดยที่เราอาจจะ “ไม่แน่ใจว่าเราได้ยินมันหรือว่าเราฝันไป”

Andrzej Wajda ผู้กำกับชาวโปแลนด์กล่าวถึง Stalker ว่าทาร์คอฟสกี้กำลัง ‘ขว้างถุงมือ’ (เป็นสัญลักษณ์การท้าดวลในการฟันดาบ) ใส่เราทุกคนที่อาศัยอยู่ในโลกเทคโนโลยีและวัตถุนิยม

Kovacs และ Szilagyi นักวิจารณ์ชาวฮังกาเรียน วิเคราะห์ว่า stalker คือตัวแทนของจิตวิญญาณ ภรรยาของเขาคือหลักศีลธรรม ลูกสาวเป็นตัวแทนของความลึกลับ และเมื่อเปรียบเทียบกับอีกกลุ่ม stalker จะเป็นตัวแทนของความศรัทธา ‘นักวิทยาศาสตร์’ แทนหลักเหตุผลและวัตถุนิยม ส่วน ‘นักเขียน’ คือ ตัวแทนของศิลปะที่เสื่อมถอย เหลือเพียงความสงสัย การดูถูกผู้อื่น และความอหังการ์

และ ‘zone’ คือ ‘ความลับ’ ที่ทุกสังคมมีและต้องการ เพื่อให้สังคมนั้นคงอยู่ได้อย่างมั่นคง มันคือพื้นที่ต้องห้ามของความทรงจำ เป็นอดีตที่ถูกปกปิดไว้เพื่อรอการตรวจสอบ และมักจะถูกบุกรุกโดยพวกคนนอกคอกและช่างสงสัย เมื่อยามที่สังคมเรียกร้องหาหลักศีลธรรม

ในความฝันของ stalker ทาร์คอฟสกี้แสดงภาพของสิ่งของต่างๆ ตั้งแต่เข็มฉีดยา กระจก เศษเหรียญ ไปจนถึงรูปภาพพระเยซูที่จมอยู่ใต้สายน้ำ รวมถึงปืนในเวลาต่อมา เป็นอดีตและความทรงจำที่ตกตะกอนอยู่ใต้กระแสน้ำ ถูกเก็บรักษาและซ่อนไว้จากโลกภายนอก

องค์ประกอบที่สำคัญของภาพธรรมชาติในหนังของทาร์คอฟสกี้ ประกอบด้วยธาตุทั้ง 4 คือ ดิน (โลก), อากาศ (ลม), ไฟ และน่ำ

น้ำในหนังของทาร์คอฟสกี้ถูกตีความว่าเป็นธาตุของเพศหญิง โดยเฉพาะใน ‘zone’ ซึ่งเป็นโลกของเพศชาย เราพบน้ำทั้งที่ไหลเอื่อยๆ ไปจนถึงไหลอย่างรุนแรง และบางครั้งก็หยุดนิ่ง น้ำยังมีแนวโน้วทั้งทำลายและชะล้างจิตให้บริสุทธิ์ ในตอนจบของหนัง ฝนได้ตกลงมาใน ‘ห้อง’ ตรงหน้าชายสามคนที่นั่งอย่างสิ้นแรง เสมือนยอมรับต่อความอ่อนแอทั้งทางร่างกายและจิตใจของตัวเอง (หรือยอมรับต่อด้านที่เป็นเพศหญิงในใจตนเอง)

นอกจากนี้สัตว์ โดยเฉพาะสุนัข (ก่อนหน้านั้นเป็นม้า) ที่มักจะปรากฏอยู่บ่อยๆอย่างลึกลับ ก็อาจจะเป็นตัวแทนของพลังชีวิตของโลกธรรมชาติที่มีอยู่ทุกหนแห่ง ตึกรามบ้านช่องที่ส่วนใหญ่อยู่ในสภาพปรักหักพัง ก็ราวกับมันกำลังจะกลับคืนสู่ธรรมชาติ

น้ำที่รุกล้ำเข้ามาในสิ่งก่อสร้างของมนุษย์ ยังแสดงให้เห็นว่าธรรมชาตินั้นยิ่งใหญ่ มนุษย์ไม่อาจตัดขาดจากสิ่งแวดล้อมได้ ก่อนหน้านี้ทาร์คอฟสกี้ เคยถ่ายฉากที่หิมะตกในโบสถ์ ใน Andrei Rublev มาแล้ว

ทาร์คอฟสกี้มักเลือกสถานที่ถ่ายทำที่ดูไร้กาลเวลา หรืออาจพูดได้ว่าสถานที่เหล่านั้นล้วนถูกครอบครองโดย ‘เวลา’ อันเป็นนามธรรม ใบหน้าของตัวละครก็คืออีกสิ่งหนึ่งที่เขาสนใจ กล้องของเขามักจับใบหน้าอันทนทุกข์ทรมานของนักแสดงชายอย่างไร้ความปราณี แต่มักจะจับภาพนักแสดงหญิงไกลออกมาจนดูลึกลับและดูมีพลังเหนือธรรมชาติ

ตัวละครชายของเขามักอ่อนไหว และปรารถนาจะไขว่คว้าอุดมคติบางอย่าง ขณะที่ตัวละครหญิงที่ถูกทิ้งไว้เบื้องหลังมักมีจิตใจเข้มแข็งมั่นคง อยู่กับความเป็นจริง และสุดท้ายมักจะรอคอยให้ผู้ชายของเธอกลับมาหาที่พักพิงในอ้อมกอดของเธอในที่สุด

หรือพูดอีกอย่างหนึ่งได้ว่า ตัวละครหญิงของทาร์คอฟสกี้นั้นคือพลังธรรมชาติอันยิ่งใหญ่นั่นเอง ขณะที่ตัวละครชายของเขาคือเหล่ามนุษย์ที่กำลังดิ้นรน ต่อสู้กับตัวเอง ทำร้ายตัวเองและคนที่ตัวเองรัก เพื่อร้องขอความรักจากมารดาแห่งสรรพสิ่ง

ทาร์คอฟสกี้เรียกหนัง Stalker ว่าเป็นโศกนาฏกรรม “ที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากความตาย แต่โดยการทำลาย ‘โลกภายใน’ ลงอย่างสิ้นเชิง... แต่ก็เป็นการยากที่จะระบุว่าตัวละคร stalker ได้บรรลุถึงระดับทางจิตวิญญาณใหม่ในที่สุด ในกรณีนี้ ‘นักเขียน’ และ ‘นักวิทยาศาสตร์’ น่าจะใกล้เคียงมากกว่า”

“แต่หนังเรื่องนี้ไม่ได้สนใจต่อระดับทางจิตวิญญาณของตัวละครเหล่านี้ แต่มันมุ่งความสนใจไปที่ระดับทางจิตวิญญาณที่จะส่งอิทธิพลต่อคนดู ดังนั้นยิ่งเข้าถึงงานชิ้นนี้ได้ยากเพียงใด ก็ย่อมได้ผลลัพธ์ทางศิลปะที่สำคัญยิ่งขึ้น สูงส่งยิ่งขึ้น แต่ก็เป็นการยากสำหรับผมที่จะระบุว่าตัวเองประสบความสำเร็จตามความตั้งใจเพียงใด มีเพียงคนดูเท่านั้นที่จะตัดสินได้ แต่นี่ก็คือความหวังของผมเมื่อทำหนังเรื่องนี้เสร็จ”

“ฉากที่ผมรู้สึกราวกับว่ามันเป็นเหมือนชีวิตของผมเอง และบางทีอาจเป็นการเปิดเผยตัวตนของผมเองอย่างเต็มที่ที่สุด คือฉากสุดท้ายของหนัง เริ่มตั้งแต่ที่พวกเขากลับมาถึงบาร์และกลับบ้าน จนถึงบทสนทนากับภรรยา เมื่อทุกๆอย่างที่เกิดขึ้นกลายเป็นอดีตไปแล้ว”
Intervista a Tarkovskij with Luisa Capo in "Scena", 1980

ทาร์คอฟสกี้อาจเปรียบเทียบตัวเอง (และพ่อ) เหมือนเป็น stalker คนหนึ่งที่ปรารถนาจะนำทางเหล่าผู้สิ้นศรัทธาในชีวิต มุ่งหน้าแสวงหาคำตอบในดินแดนศักดิ์สิทธิ์ของศิลปะ และไม่ว่าผลจะออกมาดีหรือเลว เขาก็ยังพึงพอใจที่จะทำงานนี้ตลอดไป เป็นนักโทษชั่วนิรันดร์ของภาพยนตร์

“สิ่งที่เลวร้ายที่สุดสำหรับ stalker ไม่ใช่การที่ลูกค้าของเขาหวาดกลัว แต่เป็นการที่พวกเขาไม่เชื่อต่างหาก ว่ามีห้องสำหรับความศรัทธาอยู่จริง มนุษย์ซึ่งปราศจากศรัทธาย่อมไร้รากทางจิตวิญญาณ และตาบอด หลายศตวรรษที่ผ่านมาปรัชญาใดๆย่อมผูกพันกับศรัทธา แต่ในยุคปัจจุบันที่ไร้ซึ่งศรัทธานั้นเป็นสิ่งสำคัญสำหรับ stalker ที่จะจุดไฟขึ้นในหัวใจผู้คน”

ต่อมาในภายหลังเมื่อเขาออกจากโซเวียตเป็นการถาวรแล้ว เขาให้สัมภาษณ์ทีเล่นทีจริงว่า เขาอยากจะทำภาคต่อของ Stalker โดยในคราวนี้ตัว stalker นั้นไม่เชื่ออีกต่อไปว่าผู้คนจะสามารถค้นพบความสุขนี้ได้ ผ่านการแปรสภาพของจิตวิญญาณภายใน ดังนั้นเขาจึงตัดสินใจหลอกและลักพาตัวคนเหล่านั้น เข้าสู่ ‘zone’ ด้วยความหวังว่าจะทำให้พวกเขามีชีวิตที่ดีกว่า เป็นการชำระล้างบาป... เขากลายเป็นฟาสซิสต์

Vladimir Sharun ผู้ออกแบบเสียงของหนังกล่าวในภายหลังว่า

“เราถ่ายหนังเรื่องนี้กันใกล้ๆ Tallinn บริเวณรอบแม่น้ำ Piliteh ซึ่งมีสถานีไฟฟ้าพลังน้ำตั้งอยู่ เหนือต้นน้ำมีโรงงานเคมีซึ่งปล่อยสารพิษมาตามแม่น้ำ... ทีมงานผู้หญิงของเราหลายคนเกิดผื่นแพ้ขึ้นบนหน้า ทาร์คอฟสกี้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งที่หลอดลม Anatoly Solonitsyn ก็ด้วย สิ่งที่ทำให้ผมเชื่อมเรื่องทั้งหมดนี้เข้าด้วยกันกับการถ่ายหนัง Stalker ก็คือการเสียชีวิตด้วยโรคเดียวกันของ Larissa Tarkovskaya ที่ปารีส”
Komsomolskaya Pravda , 23 March 2001

หกปีหลังจากที่ถ่ายทำหนังเสร็จ เกิดการระเบิดที่โรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ที่เชอร์โนบิล (Chernobyl ) พื้นที่โดยรอบโรงไฟฟ้ากลายเป็น ‘zone’ ในโลกความเป็นจริง

 

 


   
     
     
 
<<< | 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | >>>