โลกที่กระจัดกระจาย

 

















Arseni กับ Andrei




<<< | 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | >>>

The Mirror (1975) คือการเขียนกวีนิพนธ์ในรูปของภาพยนตร์อย่างเป็นรูปธรรม ทาร์คอฟสกี้สร้างงานที่ (เกือบ) ไร้เนื้อเรื่อง แต่เป็นเหมือนบทประพันธ์แบบกระแสสำนึกซึ่งเป็นเหมือนอัตชีวประวัติของผู้กำกับ ที่ผสมช่วงเวลาของอดีตและปัจจุบันเข้าด้วยกันจนไม่อาจแยกออกได้ ทั้งภาพในวัยเด็กของผู้บรรยาย ความสัมพันธ์ของเขากับแม่ กับอดีตภรรยา และกับลูกชาย การกลับมาจากสงครามของพ่อ The Mirror ร้อยเรียงซีนต่างๆต่อเรียงเข้าด้วยกัน โดยไม่เรียงลำดับเวลา แต่กลับหลอกหลอนคนดูราวกับการถูกสะกดจิต

บทร่างแรกของหนังใช้ชื่อว่า Confessions ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็น Bright, Bright Day (ซึ่งน่าจะหมายถึงความสุขในวัยเยาว์) อันมีที่มาจากบทกวีของอาร์เซนี

A stone lies by the jasmine
Under the stone, a treasure
Father stands on the road
A bright, bright day

บท Bright, Bright Day ซึ่งทาร์คอฟสกี้เขียนร่วมกับ Alexander Misharin นั้น เป็นชีวประวัติของแม่ของเขาเอง โดยประกอบไปด้วย 3 ส่วนคือ

  • บทสัมภาษณ์แม่ของเขาในอพาร์ทเมนท์เดิมที่เคยอยู่ ถ่ายโดยกล้องที่ซ่อนไว้
  • ความทรงจำในวัยเยาว์ ที่ถ่ายโดยใช้นักแสดง
  • ภาพสารคดีเก่าๆ เกี่ยวกับสงคราม

แต่ในบทร่างสุดท้ายที่ใช้ชื่อว่า Mirror นั้น ทาร์คอฟสกี้ตัดบทสัมภาษณ์ออก โดยให้เหตุผลว่ามันตรงและง่ายเกินไป ส่วนภาพสารคดีก็ใช้เพียงเล็กน้อย แต่เพิ่มส่วนที่เป็นปัจจุบันเกี่ยวกับผู้บรรยายและภรรยาเก่าของเขาเข้ามา โดยทาร์คอฟสกี้ใช้นักแสดงคนเดียวกันรับบทเป็นทั้งแม่และอดีตภรรยา (Margareta Terekova) รวมทั้งเปลี่ยนชื่อแม่ในหนังจาก Maria Ivanovna (ชื่อจริงของแม่เขา) เป็น Maria Nikolayevna แม้จะเล่นโดยแม่เขาเองก็ตาม นอกจากนี้ทาร์คอฟสกี้ยังใช้เสียงจริงของพ่อเขาอ่านบทกวีประกอบในหนัง และให้ภรรยาและลูกสาว (ลูกเลี้ยงของเขา) เล่นเป็นตัวประกอบในหนัง

“หนังเรื่องหนึ่งไม่ใช่แค่ผลงานชิ้นต่อไปของอาชีพคุณ แต่คือการกระทำที่มีผลกระทบต่อชีวิตทั้งชีวิตของคุณ สำหรับผม ผมได้ตัดสินใจทำหนังเรื่องนี้ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ผมใช้ทุกวิธีการทางภาพยนตร์เพื่อพูดในสิ่งที่มีค่าที่สุดสำหรับผม และอย่างตรงไปตรงมา”

ทาร์คอฟสกี้ใช้ภาพเก่าๆของแม่เขา ในการจำลองเสื้อผ้า ทรงผม รวมถึงท่าทาง Margareta Terekova ผู้แสดงเป็นแม่และภรรยาในหนัง ดูคล้ายกับแม่ของเขาจริงๆ และยังดูเหมือนภรรยาคนแรกของทาร์คอฟสกี้ด้วย ผู้ซึ่งทาร์คอฟสกี้เคยคิดจะให้เล่นบทนี้ในตอนแรก แต่ก็รู้ว่าเป็นไปไม่ได้

Irma Rausch อดีตภรรยาให้สัมภาษณ์ในภายหลังว่าเธอ “ร้องไห้ตั้งแต่ต้นจนจบ” ขณะที่ดูหนังเรื่องนี้ ขณะที่มารีนา น้องสาวของทาร์คอฟสกี้ กล่าวว่ามีหลายฉากที่ตรงตามความเป็นจริง แต่กล่าวด้วยว่าแม่ตัวจริงของเธอ ‘ซับซ้อน’ กว่าในหนังเยอะ

ทาร์คอฟสกี้เรียก The Mirror ว่าเป็น “การระลึกความทรงจำของชายคนหนึ่ง ที่พยายามเรียกคืนช่วงเวลาที่สำคัญในชีวิตของเขา ผู้ชายที่กำลังจะตาย และเพิ่งได้สติ”

“หนังเรื่องนี้มุ่งที่จะสร้างชีวิตของผู้คนที่ผมรักและรู้จักเป็นอย่างดีขึ้นมาใหม่ ผมต้องการที่จะเล่าเรื่องของความเจ็บปวดที่ทรมานชายผู้หนึ่งอยู่ เพราะเขารู้สึกว่าเขาไม่อาจชดใช้ครอบครัวของเขา ต่อสิ่งที่เขาเหล่านั้นได้มอบให้ เขารู้สึกว่าเขาไม่ได้รักคนเหล่านั้นเพียงพอ และความคิดนี้เองที่ทรมานเขา”

ความทรงจำของผู้บรรยายใน The Mirror ไม่ว่าจะเป็นความทุกข์หรือความสุขล้วนปวดร้าวทรมาน เสียจนไม่อาจนึกถึงมันเป็นลำดับเวลาได้ เพราะมันคอยแต่จะถาโถมเข้าใส่เราแบบไม่ทันได้ตั้งตัว

อากิระ คุโรซาว่า ที่กลายเป็นแฟนหนังของทาร์คอฟสกี้ไปแล้ว พูดถึง Mirror ว่า

หลายคนบ่นว่าหนังของทาร์คอฟสกี้ยาก แต่ผมไม่คิดอย่างนั้น หนังของเขาเพียงแต่แสดงให้เห็นว่าเขาเป็นคนอ่อนไหวอย่างยิ่ง... Mirror เกี่ยวกับความทรงจำที่เขาเฝ้าทนุถนอมในวัยเยาว์ และหลายคนก็ยังบ่นเหมือนเดิมว่ายาก ใช่ การเล่าเรื่องของหนังอาจดูไม่เป็นไปตามลำดับเหตุผล แต่เราต้องจำไว้ว่า: มันเป็นไปไม่ได้ที่ในจิตวิญญาณของเรา ความทรงจำในวัยเยาว์จะจัดเรียงตัวเองอย่างเรียบร้อยตามลำดับเวลา

ขบวนรถไฟประหลาดของภาพความทรงจำแต่แรกเกิดที่แตกร้าวกระจัดกระจาย นำมาซึ่งบทกวีแห่งวัยเยาว์ หากคุณสัมผัสได้ถึงความจริงของมัน คุณจะพบว่า Mirror เป็นหนังที่เข้าใจง่ายที่สุด แต่ทาร์คอฟสกี้ก็ยังคงไม่ได้พูดอย่างนั้นออกมาตรงๆ เขาเลือกที่จะเงียบ ท่าทีอย่างนี้ของเขาทำให้ผมเชื่อว่าเขามีศักยภาพอันยิ่งใหญ่ในอนาคต
Asahi Shinbun Newspaper, 13 May, 1977.

ชื่อหนัง The Mirror จึงน่าจะหมายถึง ภาพสะท้อนของปัญหาและความเจ็บปวดในอดีต (พ่อกับแม่) ที่เกิดซ้ำอีกในปัจจุบัน (ผู้บรรยายกับภรรยา)

The Mirror นั้นถูกวิจารณ์จาก Filip Yermash ประธานของ Goskino ในขณะนั้นว่า “เรามีอิสรภาพในการสร้างสรรค์งานภาพยนตร์ แต่ไม่ใช่อย่างนี้” และถูกนักวิจารณ์โซเวียตค่อนขอดว่าเป็นหนัง ‘ชั้นสูง’ (elite) ต้องปีนกระไดดู และไม่สามารถเข้าถึงได้

เรามักได้ยินคนวิเคราะห์ว่าการจากไปของอาร์เซนีคือบาดแผลในใจของทาร์คอฟสกี้ในวัยเด็ก ทว่าใน The Mirror นี้ พ่อของผู้บรรยายกลับแทบไม่ปรากฏอยู่ในหนังเลย ขณะที่แม่ของเขากลับดูเย็นชา เพื่อนของเธอยังกล่าวหาว่าเธอเป็นคนไล่สามีออกไปเองด้วยซ้ำ บางทีนี่อาจเป็นการแก้ตัวแทนพ่อของทาร์คอฟสกี้เอง

กระนั้นเพื่อนของเขา Olga Surkova ก็เคยกล่าวถึงหนัง ‘สารภาพ’ อย่าง The Mirror ว่าทาร์คอฟสกี้แสดงให้เราเห็นแต่เพียงผิวเผิน ไม่ได้เจาะลึกลงไปถึงปัญหาและความสัมพันธ์ในครอบครัว แต่พอใจที่จะโทษประวัติศาสตร์ ชะตากรรม และบาปแต่กำเนิด (original sin) มากกว่า

แต่ถึงหนังอาจจะล้มเหลวในฐานะหนังอัตชีวประวัติของผู้กำกับ (เพราะไม่ได้เล่าทั้งหมด แต่เลือกที่จะทำให้มันสวยแบบกวี) แต่ The Mirror กลับประสบความสำเร็จในมุมมองที่กว้างกว่า คือในฐานะหนัง ‘ชีวประวัติร่วม’ ของคนรัสเซียในรุ่นเดียวกัน ภาพ dacha ที่ทาร์คอฟสกี้สร้างขึ้นมาจากความทรงจำนั้น ปลุกสำนึกของคนรัสเซียในรุ่นสงครามโลกขึ้นมาอย่างรุนแรง

ทาร์คอฟสกี้ได้รับจดหมายมากมายจากคนที่ได้ดูหนังเรื่องนี้ เพื่อแสดงความขอบคุณที่เขาได้สร้างงานศิลปะชิ้นนี้ขึ้นมา หลายๆคนรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้กำลังพูดถึงชีวิตของตัวเอง ดังเช่นจดหมายฉบับหนึ่งของหญิงคนหนึ่งจาก Novosibersk

“ทุกสิ่งที่ทรมานฉัน ทุกสิ่งที่ฉันขาดและต้องการ สิ่งที่ทำให้ฉันไม่พอใจ สิ่งที่บีบรัดฉัน ทุกสิ่งที่มอบแสงสว่างและความอบอุ่นให้แก่ฉัน และทุกสิ่งที่ทำลายฉัน – ฉันเห็นมันทั้งหมดในหนังของคุณ ราวกับสิ่งที่อยู่ในกระจกเงา นี่เป็นครั้งแรกที่ภาพยนตร์กลายเป็นความจริงสำหรับฉัน และนั่นคือเหตุผลที่ฉันไปดูมัน เพื่อเข้าไปอยู่ข้างในนั้น มีชีวิตอยู่ที่นั่น”

และหญิงอีกคนจาก Gorky

“ขอบคุณสำหรับ The Mirror วัยเด็กของฉันก็เป็นอย่างนั้น... เพียงแต่คุณรู้ได้ยังไง มันมีสายลมนั่น พายุฝน... ความมืดในห้อง ตะเกียงน้ำมันของเราก็ดับอย่างนั้น และยังความรู้สึกของการรอคอยให้แม่ของฉันกลับมาเติมเต็มชีวิต”

“ในห้องที่มืดมิด จ้องมองดูผืนผ้าใบที่สว่างไสวขึ้นด้วยอัจฉริยภาพของคุณ ฉันรู้สึกเป็นครั้งแรกในชีวิตว่า ฉันไม่ได้อยู่อย่างเดียวดาย”
Natasha Synessios, Mirror

ทาร์คอฟสกี้อธิบายถึงความรู้สึกหลังจากที่ทำ The Mirror เสร็จว่า “ความทรงจำในวัยเด็กที่หลอกหลอนผมมาหลายปีอยู่ๆก็หายวับไป เหมือนมันหลอมละลายไปเฉยๆ ในที่สุดผมก็ไม่ได้ฝันถึงบ้านหลังเก่าที่ผมเคยอยู่อีกแล้ว”

“แม่มีอิทธิพลต่อผมอย่างสูง – คำว่าอิทธิพลอาจจะยังไม่พอด้วยซ้ำ โลกทั้งหมดของผมนั้นเชื่อมต่อกันกับแม่ เพียงแต่ผมยังไม่รู้ตัวเมื่อตอนที่แม่ยังมีชีวิตอยู่ จนต่อมาเมื่อแม่ตายไปแล้วผมจึงเข้าใจ แม้แต่เมื่อตอนที่ผมกำลังทำหนังเรื่องนั้น (The Mirror) – แน่นอนว่าแม่ยังมีชีวิตอยู่ในตอนนั้น – ผมไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่ามันเกี่ยวกับอะไร ผมคิดว่าผมกำลังทำหนังเกี่ยวกับตัวเอง เหมือนที่ตอลสตอยเขียน Childhood, Boyhood and Youth ตอนที่เขาอยู่ที่โอเดสซา – เขาเขียนถึงตัวเขาเอง จนเมื่อผมทำหนังเรื่องนั้นเสร็จลง ผมจึงเข้าใจว่ามันไม่ได้เกี่ยวกับผม แต่เกี่ยวกับแม่ผม”
Z Andriejem Tarkowskim rozmawiają , Jerzy Illg, Leonard Neuger

มาเรีย อีวานอฟนา เสียชีวิตในเดือนตุลาคม ปี 1979

หมายเหตุ

ผู้เขียนมีปัญหากับ ‘ท่าที’ ของหนังเรื่องนี้ที่พยายามจะทำให้ดู ‘หลอกหลอน’ โดยเฉพาะการใช้ภาพสโลว์โมชั่น และการใช้เสียงประกอบที่ประหลาดเกินจริงในบางฉาก ซึ่งตัดกับส่วนอื่นที่เล่าเรื่องแบบธรรมดา ผู้เขียนรู้สึกว่าความพยายามดังกล่าว ‘ชัดเจน’ เกินไป จนดูไม่เป็นธรรมชาติ

อย่างไรก็ดี ทาร์คอฟสกี้จบ Mirror ได้อย่างงดงาม ด้วยภาพของมาเรีย อีวานอฟนา กำลังจูงมือเด็กสองคนที่แสดงเป็นอังเดรย์และมารีนาในตอนเด็ก เดินผ่านทุ่งหญ้าไปพร้อมกับเสียงเพลงบรรเลงคลอ เป็นการบรรจบกันของความจริงกับความฝัน ชีวิตจริงและภาพยนตร์อย่างสมบูรณ์แบบ

 

 
     
 
<<< | 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | >>>