ห้วงมหรรณพ

 









<<< | 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | >>>

Kris Kelvin (Donatas Banionis) คือนักวิทยาศาสตร์ที่ถูกส่งขึ้นไปสำรวจเหตุการณ์ประหลาด ที่เกิดขึ้นในสถานีอวกาศที่โคจรอยู่รอบดาวเคราะห์ Solaris ที่ปกคลุมไปด้วยมหาสมุทรมหึมา โดยในขณะนั้นมีนักวิทยาศาสตร์ที่ปฏิบัติงานอยู่ที่นั่น 3 คนคือ Gibarian, Snaut และ Satorius เมื่อไปถึงสถานีอวกาศ Kelvin พบว่าพวกเขาได้ทำการทดลองยิงรังสี X เข้าไปยังมหาสมุทร เป็นต้นเหตุของเหตุการณ์ประหลาดที่ทำให้ Satorius ตั้งทฤษฎีเกี่ยวกับดาวดวงนี้ว่า มันประกอบไปด้วยสสารที่มีจิตสำนึก และกำลังพยายามที่จะติดต่อกับคนในสถานี โดยการเข้าไปในจิตใต้สำนึกแล้วจำลองสิ่งที่อยู่ข้างในนั้นออกมาเป็นรูปร่าง ซึ่งในกรณีของ Kelvin ก็คือภรรยาของเขา Hari ที่ฆ่าตัวตายไปเมื่อหลายปีก่อน

Kelvin พยายามทำความเข้าใจ Solaris พยายามจะเอาชนะมัน เพื่อหลุดพ้นจากการครอบงำ แต่การทำเช่นนั้นย่อมเป็นการทำลาย Hari ที่ ‘เกิดใหม่’ (resurrect) ไปด้วย ผู้ซึ่งเขาเริ่มจะสัมผัสถึงความรู้สึกเก่าๆที่เขาเคยมีต่อ Hari ตัวจริง ขณะเดียวกันเขาก็ระลึกถึงโลกที่เขาจากมา นึกถึงตัวเองในวัยเด็ก พ่อ แม่ บ้านไม้เก่าๆ ต้นไม้ สายหมอก... ความทรงจำเหล่านี้กำลังต่อสู้กับการคุกคามของมหาสมุทร Solaris

ก่อนที่จะทำ Solaris (1972) ทาร์คอฟสกี้ได้ดู 2001: A Space Odyssey ของสแตนลี่ย์ คูบริก ร่วมกับทีมงาน และพบว่ามันไม่เป็นธรรมชาติ ไม่มีความเป็นมนุษย์ มุ่งแต่จะแสดงศักยภาพทางเทคโนโลยีของมนุษยชาติในอนาคตเท่านั้น พวกเขาจึงตัดสินใจที่จะทำ Solaris ในทางตรงกันข้าม แม้กระทั่งฉากในยานอวกาศเขาก็ตั้งใจจัดให้มันดูรก ระเกะระกะ ไม่เหมือนฉากที่เป็นระเบียบเรียบร้อย และ 'ปลอดเชื้อ' ของ 2001

เขาดึงนิยายของ Stanislaw Lem นักเขียนโปแลนด์ กลับมาสู่โลก เขาให้ความสำคัญกับโลกเหนือกว่าอวกาศ ธรรมชาติเหนือเทคโนโลยี ทาร์คอฟสกี้ไม่ได้ต้องการแสดงภาพโลกในหนังเพียงเพื่อให้เป็นขั้วตรงข้ามกับอวกาศเท่านั้น แต่ต้องการให้คนดูรู้สึกถึงความงามของโลก และ ‘ความขมขื่นของการโหยหาอดีต’

 
















“เมื่อผมได้อ่านนิยายของ Lem สิ่งที่กระทบใจผมที่สุดคือปัญหาทางศีลธรรมในความสัมพันธ์ระหว่าง Kelvin และสติสัมปชัญญะของเขา ซึ่งปรากฏออกมาในรูปของ Hari… ปัญหาของมนุษย์ที่ซ่อนอยู่ภายใน ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี มักกระทบใจผมมากกว่าคำถามใดๆเกี่ยวกับเทคโนโลยี”

“อาจกล่าวได้ว่า เรื่องของ Hari กับ Kelvin นั้นก็คือเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสติสัมปชัญญะของเขาเอง เกี่ยวกับมนุษย์และจิตวิญญาณของเขาซึ่งเขาไม่สามารถควบคุมมันได้ เมื่อเขาจมอยู่กับการสำรวจและพัฒนาเทคโนโลยี”

“การต่อสู้ภายในใจอย่างไม่รู้จบของมนุษย์ ผู้ซึ่งต้องการเป็นอิสระจากความอดกลั้นทางศีลธรรมทั้งมวล แต่ขณะเดียวกันก็เสาะแสวงหาความหมายของการกระทำของตนในรูปของอุดมคติ – นี่คือความแตกต่างที่ทำให้เกิดความขัดแย้งภายในอย่างรุนแรง ในชีวิตของปัจเจกชนและของสังคม สำหรับผมแล้ว ความขัดแย้งนั้น และการค้นหาอุดมคติทางจิตวิญญาณอย่างเร่งด่วน จะดำเนินต่อไป จนกว่ามนุษยชาติจะปลดปล่อยตัวเองอย่างเพียงพอ เพื่อที่จะผูกพันกับจิตวิญญาณเท่านั้น”

มนุษย์เดินทางไปสู่จักรวาลแสนไกล เพียงเพื่อจะค้นหากระจกที่จะสะท้อนภาพตัวเอง แทนที่จะเผชิญหน้ากับปัญหาบนโลก การเดินทางที่ยาวนานที่สุดคือการเดินทางลึกเข้าไปในใจของตัวเอง เพื่อค้นพบความผิดพลาดและบาดแผลที่ไม่อาจเยียวยา แต่ต้องยอมรับมันไว้อย่างเจ็บปวด

โลกคือ “กระจกส่องจักรวาลขนาดยักษ์ที่สะท้อนภาพจิตสำนึกที่แตกร้าว (ของเหล่านักวิทยาศาสตร์)” (Jack Kroll, Newsweek)

ในตอนจบของหนัง เราไม่อาจบอกได้ว่า Kelvin ได้กลับมาที่โลกจริงๆหรือไม่ หรือเขายังติดอยู่ที่ดาว Solaris หรือเขาอาจไม่เคยได้ไปที่ Solaris เลยด้วยซ้ำ

อากิระ คุโรซาว่า ผู้กำกับชาวญี่ปุ่นกล่าวว่า หนังเรื่องนี้ทำให้เขารู้สึกหวาดกลัวอย่างยิ่ง

ผมรู้สึกว่าหัวใจของผมมันปวดร้าวอย่างทุกข์ทรมาน ด้วยความปรารถนาที่จะหวนคืนสู่โลกอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เราอาจจะมีความสุขจากการพัฒนาอย่างน่าทึ่งของวิทยาศาสตร์ แต่มันกำลังนำมนุษยชาติไปสู่จุดใด ? ความหวาดกลัวในหนังเรื่องนี้ประสบความสำเร็จในการวิงวอนต่อจิตวิญญาณของเรา หากปราศจากมัน หนังวิทยาศาสตร์ก็เป็นแค่เรื่องพาฝัน
Asahi Shinbun Newspaper, 13 May, 1977.

Solaris ได้รางวัล Special Jury Prize ที่คานส์ และได้รับความสำเร็จเป็นอย่างดีทั้งในโซเวียตและที่อื่นๆ แม้จะได้รับคำวิจารณ์ว่า สับสน เสแสร้ง และมีปรัชญา ‘หนายังกับชั้นโอโซน’ (Jay Cocks, Time)

และคนที่เกลียดหนังเรื่องนี้ยังรวมถึง Stanislaw Lem เจ้าของเรื่องด้วย ครั้งหนึ่งขณะที่กำลังถ่ายทำ เขาทะเลาะกับทาร์คอฟสกี้ และพูดว่า ทาร์คอฟสกี้ไม่ได้กำลังทำ Solaris หรอก แต่กำลังทำ Crime and Punishment (ดอสโตเยฟสกี้) ต่างหาก

“สิ่งที่เลวร้ายที่สุดคือ การที่ทาร์คอฟสกี้นำพ่อแม่ของ Kelvin เข้ามาในหนังและแม้กระทั่งน้าของเขา – เพราะแม่คือ mat' และ mat' คือ Rossiya, Rodina, Zemlya. [หมายถึง Russia, Motherland, Earth] นี่ทำให้ผมเป็นบ้า ในช่วงเวลานั้นเราเป็นเหมือนม้าสองตัวที่ต่างก็ดึงรถไปคนละทาง และเหตุการณ์นี้ก็เกิดกับพี่น้อง Strugatsky ด้วย เมื่อทาร์คอฟสกี้ทำ Stalker จากงานของพวกเขา The Roadside Picnic เหมือนเขาทำสตูว์จานหนึ่งที่ไม่มีใครเข้าใจ เป็นสตูว์ที่แสนเศร้าและมืดหม่น... ไม่มีใคร ‘จับ’ เขาอยู่ เพราะเขามักจะดิ้นไปอยู่ที่อื่นได้ทุกที... เมื่อผมเข้าใจอย่างนั้นแล้ว ก็เลยเลิกยุ่งกับเขาไปเลย ผู้กำกับคนนี้ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้อีกแล้ว...”

“Kelvin ของผมตัดสินใจที่จะอยู่ที่ Solaris ต่อโดยไม่มีความหวังใดๆ แต่ทาร์คอฟสกี้จบมันด้วยภาพอะไรบางอย่างเหมือนเกาะ และมีกระท่อมอยู่บนนั้น เมื่อผมได้ยินเกี่ยวกับกระท่อมและเกาะ ผมเซ็งขึ้นมาทันที... นี่มันเหมือนการเทซอสที่เต็มไปด้วยอารมณ์ราดทั่วตัวพระเอกของเขา นี่ยังไม่ได้พูดถึงเรื่องที่เขาตัดภูมิทัศน์ทางวิทยาศาสตร์ และใส่อะไรประหลาดๆที่ผมไม่สามารถทนได้เข้ามาแทน”
Stanisław Bereś, Rozmowy ze Stanisławem Lemem, Wydawnictwo Literackie, Cracow 1987

ส่วนตัวทาร์คอฟสกี้กลับรู้สึกชอบ Solaris น้อยที่สุดในหนังทั้งหมดของเขา เพราะเขาไม่สามารถกำจัดส่วนที่เป็นนิยายวิทยาศาสตร์ออกไปได้ (มากพอ) 'เนื่องจากมันจำเป็นต่อเนื้อเรื่องของ Lem' โดยเขาเขียนถึงหนังเรื่องนี้เพียงเล็กน้อยใน Sculpting in Time รวมทั้งเขายังมีปัญหากับนักแสดงด้วย โดยเฉพาะ Banionis ซึ่งเป็นนักแสดงละครเวทีมาก่อนนั้น ต้องการคำอธิบายเกี่ยวกับตัวละครของเขาทั้งหมดก่อนที่จะเริ่มถ่ายทำ รวมถึงความหมายต่างๆของหนัง ซึ่งทาร์คอฟสกี้ไม่มีให้ กรณีนี้ยังรวมถึง Natalya Bondarchuk (รับบท Hari) ซึ่งเป็นลูกสาวของศัตรูของเขาอย่าง Sergei Bondarchuk ด้วย

ที่จริงแล้วก่อนที่ทาร์คอฟสกี้จะยื่นบท Solaris ให้ Mosfilm พิจารณา เขาได้ยื่นบทหนังชีวประวัติของแม่ชื่อ Bright, Bright Day ไปก่อน แต่ก็ถูกปฏิเสธ ก่อนที่จะได้สร้างในภายหลังในชื่อ Mirror

 

 
     
 
<<< | 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | >>>