PIER PAOLO PASOLINI
ภาคปลาย : สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน (1)

 




หน้าก่อน | 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | หน้าต่อไป

ความรื่นรมย์ของชีวิต

The Decameron (1971), The Canterbury Tales (1972) และ The Thousand and One Nights (1974) พาโซลินี่เรียกหนังที่สร้างจากวรรณกรรมในยุคกลางทั้งสามเรื่องนี้ว่า ไตรภาคแห่งชีวิต (Trilogy of Life)

The Decameron (Ten Days’ Work) เขียนขึ้นในระหว่างปี 1348-1353 โดย Giovanni Boccaccio (1313-1375) ได้รับการยอมรับว่าเป็นวรรณกรรมที่สำคัญที่สุดของอิตาลีในยุคกลาง เป็นเรื่องเกี่ยวกับคนสิบคนที่มีชีวิตรอด จากการระบาดของกาฬโรคครั้งใหญ่ในยุโรปเมื่อปี 1348 ทั้งหมดไปอยู่รวมกันในหมู่บ้านเล็กๆแห่งหนึ่งนอกเมืองฟลอเรนส์ พวกเขาต่างผลัดกันเล่าเรื่องราวต่างๆให้กันและกันฟัง ในช่วงเวลาสิบวันจำนวนร้อยเรื่อง Boccaccio เขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นเพื่อปลอบขวัญผู้คนจากอาการหวาดกลัว และปลอบโยนผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่หลังมหันตภัยครั้งนั้น ที่เขาเองก็สูญเสียทั้งพ่อ แม่เลี้ยง และหญิงคนรัก The Decameron มีทั้งเรื่องตลก เรื่องสัปดน รวมไปถึงโศกนาฏกรรม ทุกเรื่องล้วนแต่แสดงความเป็นมนุษยนิยมออกมาอย่างมีชีวิตชีวา ตัวละครในแต่ละเรื่อง ต่างก็มีชีวิตของตัวเอง ว่ายวนอยู่ในรักโลภโกรธหลง โชคชะตาของพวกเขาไม่ได้ถูกกำหนดโดยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆ หรือในกรอบอิทธิพลของคริสต์ศาสนา ที่มีอิทธิพลอย่างสูงในยุคนั้น ซ้ำยังเสียดสีและถากถางพฤติกรรมมือถือสากปากถือศีลของคนทุกชนชั้น ไปจนถึงแม่ชีเลยทีเดียว Boccaccio เชื่อว่ามนุษย์สามารถเอาชีวิตรอดได้ด้วยปัญญา อันแสดงถึงคุณค่าและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ นับเป็นความคิดที่ก้าวหน้ามากในยุคกลาง

พาโซลินี่ดัดแปลงให้เรื่องเกิดขึ้นในเมืองเนเปิลในยุคกลาง ที่มีแต่ชาวบ้านยากจน และต้องอาศัยอยู่ภายใต้การปกครอง ของฝ่ายอาณาจักรและฝ่ายศาสนจักร อยู่ในสังคมปิดตัดขาดจากโลกภายนอก และใช้ชีวิตในแบบเดิมๆไม่เคยเปลี่ยนแปลง พาโซลินี่เลือกใช้คนเล่าเรื่องเพียงคนเดียว คือคนวาดภาพฝาผนังโบสถ์ ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของจิตรกรชื่อดัง Giotto ที่หลังจากเพื่อนของเขาปฏิเสธที่จะเล่นบทนี้ พาโซลินี่จึงตัดสินใจเล่นเอง เป็นศิลปินที่ได้รับการว่าจ้างให้มาวาดภาพให้กับโบสถ์หลังหนึ่งในเนเปิล เขาร่างภาพตัวละครในภาพขึ้น จากการสำรวจผู้คนทุกชนชั้นอาชีพในเมืองยากจนแห่งนี้ จากนั้นผู้คนเหล่านั้น ก็พาเราไปรู้จักชีวิตจริงๆของพวกเขา ที่ไม่ได้มีโอกาสปรากฏอยู่ในภาพที่เสร็จสมบูรณ์ แต่หนังของพาโซลินี่มีให้ ระหว่างที่ดูหนังเรื่องนี้จึงเหมือนกับ เรากำลังดูพาโซลินี่ค่อยๆสร้างงานศิลปะของเขาขึ้นมา พอหนังจบจิตรกรก็เสร็จงานของเขาพอดี

The Decameron คว้ารางวัลหมีเงินที่เทศกาลหนังเบอร์ลิน กลายเป็นหนังที่ทำเงินมหาศาลในบ้านเกิด และเป็นหนังต่างประเทศที่ทำเงินสูงสุดในอเมริกาในปี 1971

Vincent Canby นักวิจารณ์ผู้มีอิทธิพลของ New York Times กล่าวว่า
หนังเรื่องนี้อาจจะล่อแหลมต่อความรู้สึกที่บอบบางของสุภาพชนทั่วไป แต่ก็ยากที่จะกล่าวว่ามัน ‘ผิดศีลธรรม’ … นี่คือภาพที่งดงามที่สุดและตื่นตาตื่นใจที่สุดของยุค Renaissance เท่าที่เคยปรากฏบนจอภาพยนต์ … เปลือย พร้อมด้วยปากที่มีแต่ฟันสกปรกแบบคนยากจน, ตัวละครของเขายิ้ม…”

 




ส่วน The Canterbury Tales ของ Geoffrey Chaucer (1343-1400) ซึ่งเป็นงานที่มีอิทธิพลสูงสุดต่อพัฒนาการทางวรรณกรรมของอังกฤษ เป็นเรื่องของคณะแสวงบุญที่จะเดินทางไปยังโบสถ์ Canterbury ที่ประกอบไปด้วยคนทุกชนชั้นตั้งแต่อัศวินไปจนถึงชาวนา รวมทั้งตัวกวี Chaucer เองด้วย คนกลุ่มนี้จึงเป็นเสมือนภาพจำลองของสังคมอังกฤษในคริสตวรรษที่ 14 ทั้งหมดไปรวมตัวกันที่ที่พักแห่งนึง เพื่อฆ่าเวลาเจ้าของบ้านจึงจัดให้มีการแข่งขันการเล่าเรื่องขึ้น ในหนังสือประกอบด้วยทั้งหมด 22 เรื่อง แต่พาโซลินี่เลือกมาเพียงเจ็ดเรื่องคือ The Merchant, The Friar, The Cook, The Miller, The Wife of Bath, The Reeve’s Tales และ The Summoner และเหมือนกับใน The Decameron พาโซลินี่เล่นเป็น Chaucer เอง

เขากล่าวว่าโลกของ Chaucer และ Boccaccio นั้น เป็นโลกที่ยังไม่เคยพบกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมหรือสังคมบริโภคนิยมใดๆ “ถ้าคุณอ่านหนังสือพิมพ์ คุณก็จะเจอกับเรื่องเล่าชุดหนึ่งเหมือนกับของ Chaucer หรือ Boccaccio ผมเชื่อมต่อเรื่องเหล่านี้ด้วยความเสียใจต่อการสูญหายไปของโลกในอดีต ผมเป็นคนไม่มีเสน่ห์และมักรู้สึกแปลกแยกจากสังคม ผมต่อสู้กับมัน และมันก็หันกลับมาทำลายผม แต่มันก็ยังมอบความสำเร็จเหล่านี้ให้ผมด้วยเช่นกัน แต่ตอนนี้ผมไม่ชอบมันอีกแล้ว ผมไม่ชอบวิถีชีวิตของมัน คุณภาพชีวิตของมัน และนั่นทำให้ผมรู้สึกโหยหาอดีต” นักวิจารณ์มักเรียกงานชุดนี้ของพาโซลินี่ว่าเป็นแนวหนีโลก (escapist) ถึงแม้เขาจะปฏิเสธก็ตาม

เขาเรียกมันว่าเป็นการ “เย้ายั่วต่อแนวรบทุกๆด้าน ต่อพวกกระฎุมพีและพวกฝ่ายขวา รวมทั้งเหล่านักวิจารณ์ที่มักเอาเรื่องเพศออกจากหนังของผม โยนทุกอย่างออกไป แล้วก็พบว่ามันว่างเปล่า ไม่เข้าใจว่ามันเต็มไปด้วยอุดมคติมากมาย กระทั่งไอ้นั่นขนาดใหญ่บนจอหนัง บนหัวของพวกเขาที่พวกเขาไม่เคยอยากจะเข้าใจ” …The Canterbery Tales คว้ารางวัลที่หนึ่งจากเทศกาลหนังเบอร์ลินปี 1972

จากความสำเร็จทางรายได้ของทั้งสองเรื่องทำให้นายทุนกล้าออกเงินให้พาโซลินี่ถ่าย The Thousand and One Night ไปทั่วโลก ตั้งแต่อินเดีย อิหร่าน เอธิโอเปีย จนถึงเนปาล

 

The Thousand and One Nights หรือ Arabian Nights หรือ พันหนึ่งราตรี เริ่มต้นเมื่อสุลต่าน Schahriar จับได้ว่ามเหสีมีชู้ จึงสั่งให้นำไปประหาร ด้วยความโมโหเขาจึงตั้งใจว่าต่อจากนี้จะแต่งงานกับผู้หญิงคนใหม่ทุกคืน และพอรุ่งเช้าก็จะประหารเธอทิ้งซะ ผู้หญิงคนแรกที่สุลต่านแต่งงานด้วยก็คือ Scheherazade ในคืนแต่งงานเธอเล่าเรื่องๆหนึ่งให้น้องสาวฟังโดยมีสุลต่านแอบฟังอยู่ด้วย แต่เธอก็ยังเล่าไม่จบ สุลต่านจึงให้เธอมีชีวิตอยู่ต่ออีกวันนึงเพื่อให้เธอเล่าเรื่องจนจบ เธอจึงเล่าเรื่องให้ค้างคาอยู่อย่างนี้เรื่องแล้วเรื่องเล่าคืนแล้วคืนเล่า ผ่านไปหนึ่งพันกับอีกหนึ่งคืน สุลต่านก็ตัดสินใจละเว้นการประหาร ปล่อยให้เธอมีชีวิตต่อไป วรรณกรรมชิ้นนี้เป็นเรื่องที่เล่ากันปากต่อปากมาตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 8 จนได้มีการจดเป็นภาษาอารบิกเมื่อปลายคริสตศตวรรษที่ 14 เรื่องที่ราชินี Scheherazade เล่ามีทั้งนิทานของเปอร์เซีย อาหรับ อินเดียและอียิปต์ ทั้งเรื่องอาลีบาบา อลาดินและซินแบด ซึ่งล้วนเป็นแหล่งความรู้อันมีค่าในการศึกษาวัฒนธรรมของตะวันออกกลาง

พาโซลินี่เลือกมาทำหนังแค่ส่วนเดียว โดยผสมเรื่องเล่าหลายเรื่องเข้าด้วยกัน มีเรื่องหลักอยู่ที่ความรักของเด็กหนุ่ม Nur-ed-Din กับทาสสาว Zumurrud ที่ต่อมาต้องระหกระเหิน ปลอมตัวเป็นชาย ได้เป็นกษัตริย์ และแต่งงานกับหญิงคนหนึ่ง ระหว่างนั้นตัวละครมากมายผลัดกันเล่าเรื่อง ที่ซ้อนทับกันไปมาเหมือนความฝัน “…ความจริงไม่ได้อยู่ในความฝันเดียว หากแต่สถิตอยู่ในความฝันมากมาย

หนังไปคว้ารางวัล Special Jury Prize ที่เทศกาลหนังเมืองคานส์ปี 1974 “…ช่างเป็นค่ำคืนที่งดงามเหลือเกิน แม้พระเจ้าก็คงไม่อาจสร้างขึ้นมาได้ มันเริ่มต้นอย่างข่มขื่น แต่ก็จบลงอย่างอ่อนหวาน” Nur-ed-Din กล่าวในตอนจบ

คนส่วนใหญ่มักรู้จักพาโซลินี่จากหนังสามเรื่องนี้ เนื่องจากชื่อเสียงและแรงดึงดูดในเรื่องเพศในหนัง ซึ่งถึงแม้หนังจะมีองค์ประกอบทางศิลป์และทางภาพที่งดงาม แต่หากไม่เข้าใจความคิดของพาโซลินี่มาก่อนแล้ว คนดูอาจรับรู้ได้เพียงเรื่องสนุกสนานของคนชั้นล่าง ที่อุดมไปด้วยเรื่องลามกสัปดน จึงอาจทำให้ถูกประเมินค่าต่ำกว่าความเป็นจริง

จากอิตาลีบ้านเกิด ไปอังกฤษ และไกลถึงตะวันออกกลาง ทั้งสามเรื่องในไตรภาคแห่งชีวิตนี้ ล้วนแต่มีรากฐานมาจากวรรณกรรมที่แสดงออกถึงความงดงามและเต็มไปด้วยชีวิตชีวาของชีวิต การดำเนินชีวิตอยู่ท่ามกลางศิลปะ และการเอาชีวิตรอดด้วยพลังทางศิลปะ ภาพยนต์ทั้งสามเรื่องจึงเป็นเหมือนการเฉลิมฉลอง ต่อการมีชีวิตอยู่ในโลกอดีตที่ไร้กฏเกณฑ์เข้มงวด ล้นไปด้วยตัณหาราคะ แวดล้อมด้วยงานศิลป์ ท่ามกลางธรรมชาติอันบริสุทธิ์และงดงาม …แต่หลังจากนั้นปีเดียว พาโซลินี่ก็ปฏิเสธทุกอย่างที่เขาทำในไตรภาคนี้!!

 

ซ้ายสังวาส

ระหว่างถ่ายทำ The Canterbury Tales นั้น Ninetto ได้เอ่ยปากบอกพาโซลินี่ว่าเขาจะต้องกลับโรมเพื่อไปแต่งงาน!! พาโซลินี่ทั้งโมโหและเศร้าเสียใจ ในวันแต่งงานเดือนมกราคม 1973 เขาก็หลีกเลี่ยงด้วยการเดินทางไปดูสถานที่ถ่ายทำสำหรับ The Thousand and One Nights


Ninetto Davoli

การสูญเสีย Ninetto ไป ทำให้เขาออกท่องราตรีหนักขึ้น มีเด็กผู้ชายมากมายที่เขาสามารถซื้อหาได้ด้วยเงินตามท้องถนน ทั้งในอิตาลีและในทุกประเทศที่เขาเดินทางไปถ่ายหนัง แม้ว่าความสัมพันธ์ของเขากับครอบครัวของ Ninetto จะดีขึ้นในภายหลังก็ตาม (Ninetto ตั้งชื่อลูกชายคนแรกว่า Pier Paolo และคนที่สองว่า Guido)

ตุลาคม 1975 บทภาพยนต์ของไตรภาคแห่งชีวิตได้รับการตีพิมพ์ออกจำหน่าย พร้อมด้วยบทนำ “คำประกาศไม่ยอมรับไตรภาคแห่งชีวิต” ที่เขียนโดยพาโซลินี่เอง!!

เขาเริ่มต้นอธิบายเหตุที่เขาเลือกใช้ร่างกายมนุษย์ (ที่เปล่าเปลือย) กับเพศสัมพันธ์ในหนังทั้งสามเรื่องนั้นว่ามาจากเหตุผลสามประการคือ

“หนึ่ง มันคือการต่อสู้เพื่อสิทธิในการแสดงออกและเสรีภาพทางเพศ ซึ่งเป็นสองปัจจัยหลักของความตึงเครียดในทศวรรษที่ 50 และ 60

สอง วิกฤตการณ์ทางวัฒนธรรมและสังคมมนุษย์ตั้งแต่ยุค 50 จนจบยุค 60 ได้ถูกครอบงำแทนที่โดยสื่อหรือระบบสื่อสารคมนาคมขนาดใหญ่ ซึ่งล้วนแต่เป็นภาพลวงตา – ที่มั่นสุดท้ายของ ‘ความจริง’ จึงเหลืออยู่เพียงที่ร่างกายอัน ‘บริสุทธิ์’ และอวัยวะเพศของมนุษย์ที่คงอยู่กับมนุษย์มาแต่โบราณกาล

สุดท้าย การแสดงออกของความปรารถนาทางเพศอย่างเปิดเผยที่ยังสัมผัสได้ในประวิติศาสตร์ (ที่เนเปิล, ที่ตะวันออกกลาง) นั้นทำให้ผมหลงใหลทั้งในฐานะศิลปินและในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง

แต่ทุกอย่างได้พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือไปเสียแล้ว”

พาโซลินี่กล่าวว่า การต่อสู้ในข้อหนึ่งบัดนี้ได้ถูกแทนที่โดยอำนาจในการบริโภคไปแล้ว ส่วนร่างกายอันบริสุทธิ์ก็ถูกทารุณ เปลี่ยนแปร และผูกมัดอยู่กับอำนาจในการซื้อขาย (เหมือนสิ่งของ) ขณะที่ชีวิตทางเพศส่วนตัว (เช่นของเขาเอง) ก็ต้องทุกข์ทรมานจากการเสื่อมโทรมของสังขาร

“…ตอนนี้ผมเกลียดร่างกายและอวัยวะเพศ (ของเด็กหนุ่มอิตาลี)

ถ้าเด็กหนุ่มชาวบ้านในหนังของเขา ทั้งที่เมืองเนเปิลและในประเทศโลกที่สาม มีชีวิตอยู่ในวันนี้เหมือนอย่างที่พวกเขาเป็นในอดีต พวกเขาก็คงเป็นได้แค่ขยะสังคม โง่เง่าและไร้ประโยชน์

“…การพังทลายของปัจจุบันก็เหมือนการพังทลายของอดีต ชีวิตก็คือกองสะสมของซากปรักหักพังที่ไร้ความสำคัญและน่าเย้ยหยัน

บางทีการสิ้นความนับถือในความเป็นมนุษย์เช่นนี้ อาจเป็นเหตุให้เขาตัดสินใจทำหนังเรื่องต่อไป จากหนังสืออื้อฉาวของ Marquis de Sade (มาร์กีส์ เดอ ซาด) ผู้ที่ชื่อของเขาคือรากศัพท์ของคำว่า Sadism ภาพยนต์เรื่องนั้นคือ Salò Or 120 Days of Sodom

 

 
 
หน้าก่อน
| 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | หน้าต่อไป